ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นประเพณีที่ประชาชนในภาคใต้ของไทย ที่รับมาจากอินเดียโดยเฉพาะชาวนครศรีธรรมราชซึ่งมีการติดต่อค้าขายกับชนชาติอินเดีย โดยวัฒนธรรมและอารยธรรมอินเดียส่วนใหญ่ถ่ายทอดมากับความเชื่อในศาสนาพราหมณ์ ซึ่งมีประเพณีที่เรียกว่า “เปตพลี” เป็นประเพณีที่จัดขึ้นอุทิศแก่ผู้ตาย คำว่า “เปต” นั้นมีรากศัพท์มาจากภาษาบาลี ตรงกับคำว่า “เปรต” ในภาษาสันสกฤต แปลว่าผู้ไปก่อน อันหมายถึงบรรพบุรุษที่ตายไปแล้ว ซึ่งในความเชื่อถ้าตอนมีชีวิตอยู่บนโลกเป็นคนดีมีคุณธรรม พระยายมจะพาวิญญาณไปสู่แดนอันเป็นอันเป็นที่สุข แต่ถ้าทำกรรมชั่วก็จะพาไปลงนรกแดนอเวจี ดังนั้นลูกหลานเกรงว่า บรรพบุรุษของตนที่ตายไปอาจจะตกนรก วิธีการช่วยไม่ให้บรรพบุรุษเหล่านั้นตกนรก คือการทำบุญอุทิศส่วนกุศลส่งไปให้เรียกว่า “พิธีศราทธ์” (ศราทธ์เป็นภาษาสันสกฤต ตรงกับภาษาบาลีว่าสารท) ซึ่งได้กำหนดวิธีการทำบุญอุทิศส่วนกุศลไปให้ ซึ่งเรียกว่าทำบุญทักษิณานุปทานหรือเปตพลี ส่วนในความเชื่อของชนชาติไทยนั้นก็จะมีการเซ่นไหว้ผีบ้านผีเรือนหรือผีปู่ย่าตายายที่ปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณกาล ก็เป็นความเชื่อเดียวกับความเชื่อของอินเดียจะต่างกันอยู่ที่ผีปู่ย่าตายายของไทยมักอยู่ตามบ้านเรือนของลูกหลาน ส่วนผีบรรพบุรุษของชาวอินเดียเมื่อตายแล้วจะเผาภายใน ๑๐ วัน และเชื่อว่าร่างกายถูกไฟเผาจะอ่อนปวกเปียก แต่เมื่อลูกหลานทำพิธีศราทธ์ให้แล้วจะมีร่างกายที่แข็งแรงขึ้น